ที่มา :ไวรัสตับอักเสบบี และ ซี ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ
เรียบเรียงโดย รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี
สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลัน แม้มีอาการมาก อ่อนเพลีย ตาเหลืองตัวเหลือง แต่ส่วนใหญ่จะหายกลับเป็นปกติในเวลารวดเร็ว ในช่วงแรกๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารมาก โดยเฉพาะตอนบ่ายๆ อาการจะมากกว่าตอนเย็นๆ นอกจากนั้น จะมีอาการอ่อนเพลียมาก ยิ่งตอนบ่ายๆอาจอ่อนเพลียมากขึ้น
การรับประทานอาหาร
ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด ในอดีตมักแนะนำให้งดอาหารมัน ดื่มน้ำหวานมากๆ ซึ่งปัจจุบันทราบกันดีว่า ไม่เป็นความจริง
ในช่วงแรกหากผะอืดผะอมมากอาจลดอาหารมัน หรือ อาหารที่มีกลิ่นคาวๆ ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอาหารมัน จะทำอันตรายตับ !!!
หากอาการอาเจียนหายและไม่เหลืองมาก การรับประทานอาหารมันก็ไม่ได้เป็นอันตรายใดๆ ในขณะที่การดื่มน้ำหวานปริมาณปกติไม่มีอันตรายอะไร แต่หากดื่มกันมากๆ วันละเป็นขวดๆ คงไม่ได้ประโยชน์อะไรและอาจเกิดโทษ เพราะน้ำหวานในปริมาณมากเกินความพอดีเป็นพลังงานส่วนเกิน ร่างกายจะเปลี่ยนเป็น ไขมันเกาะที่ตับ ทำให้ตับโตมากขึ้น จุกแน่นท้องแทน แนะนำให้รับประทานอาหารครบทุกหมู่ อาจแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ ตอนเช้าหากพอรับประทานได้ก็ให้รับประทานตุนไว้ก่อน เพราะตอนบ่ายๆอาจเบื่ออาหาร รับประทานได้น้อย
ภาพแสดงเซลตับปกติ และ ไขมันเกาะที่ตับ ที่มา http://www.doctortipster.com/21650-possible-etiology-of-alcoholic-fatty-liver-explained.html
ยาที่อาจจำเป็นต้องใช้ยารักษาตามอาการ เช่น อาเจียนอาจใช้ยาแก้อาเจียนซึ่งแพทย์จัดให้ อาจมีอาการอืดๆจุกชายโครงขวาบ้างจากตับโต บางรายอาจมีอาการปวดเมื่อยบ้าง ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ หากไม่ได้เป็นตับอักเสบรุนแรงและท่านรับประทานยาคุมกำเนิดอยู่ไม่จำเป็นต้องหยุดยาเม็ดคุมกำเนิด สำหรับการใช้วิตามินต่างๆไม่มีความจำเป็นแต่ก็ไม่ได้มีอันตรายอะไร สามารถใช้ได้ ตัวอย่าง เช่น วิตามินบำรุงตับทั่วๆไป
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสมุนไพรหลายอย่างที่ไม่ทราบส่วนประกอบแน่นอนจำนวนหนึ่ง อาจมีสารกดภูมิต้านทานประเภทสเตอรอยด์ ผสมอยู่ อาจส่งผลเสียรุนแรง แทนที่ร่างกายจะกำจัดเชื้อไวรัสให้หายขาดได้ กลับเป็นตับอักเสบเรื้อรังได้ครับ
สำหรับการพักผ่อนหรือการออกกำลังกายอยากจะบอกว่า ผู้ป่วยจะรู้ตัวได้ดีที่สุดครับ เพราะหากยังเพลียมากๆก็ควรพักผ่อนตามสมควร แต่หากไม่เพลียแล้วหรือเริ่มเหลืองลดลงแล้ว ก็คงทำกิจวัตรประจำวันได้ตามความเหมาะสม การออกกำลังกายควรงดไว้จนหายเหลืองและระดับ AST/ALT น้อยกว่า 100 U/L (ยูนิตต่อลิตร) แล้ว
ผู้ป่วยตับอักเสบบีฉับพลัน ไม่จำเป็นต้องแยกภาชนะหรือห้องน้ำกับคนอื่นๆ อย่างไรก็ตามสิ่งของที่อาจปนเปื้อนเลือด เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตับเล็บ ควรแยกกัน ต้องตรวจภูมิต้านทาน (Anti-HBs/HBsAb) ในคู่สมรสด้วย หากยังไม่มีควรฉีดวัคซีนและระหว่างที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน การมีเพศสัมพันธ์ ต้องใช้ถุงยางอนามัย
โดยทั่วไปกว่าจะมีอาการเป็นปกติในผู้ป่วยตับอักเสบบีฉับพลัน ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ และมากกว่าร้อยละ 95 จะหายเป็นปกติกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีออกจากร่างกายได้อย่างถาวร ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ยาควบคุมไวรัสใดๆ ยังไม่มีบทบาทในการกำจัดไวรัสและหากใช้ยาบางอย่าง อาจทำให้ผู้ป่วยทรุดลงในช่วงที่อาการมากๆ เช่น การใช้อินเตอร์เฟอรอน
Updated : 27 MAY 2016
By Retromedtech
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น